งานแฮกระดับประเทศของจีน Tianfu Cup เข้าปีที่สาม ตบ iOS 14, Windows 10 และ Chrome ร่วง

งานแฮกระดับประเทศของจีน Tianfu Cup ดำเนินเข้ามาสู่ปีที่ 3 แล้ว โดยในปีนี้นั้นเป้าหมายชื่อดังอย่าง iOS 14, Windows 10 v2004, Chrome รวมไปถึงกลุ่มเทคโนโลยี virtualization สามารถถูกโจมตีโดยช่องโหว่ได้สำเร็จ

Tianfu Cup ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่เมืองเฉิงตูในช่วงเวลาเดียวกับการแข่งขัน Pwn2Own ผู้เข้าแข่งขันจำนวน 15 ทีมจะมีเวลา 5 นาทีและเงื่อนไขในการโจมตีได้ 3 ครั้งเพื่อให้นำ exploit ที่ทำการพัฒนามาโจมตีกับเป้าหมาย เงินรางวัลจะถูกมอบให้กับทีมซึ่งโจมตีเป้าหมายได้สำเร็จก่อนตามเงื่อนไขของความยากและอื่นๆ โดยในปีนี้ทีมผู้ชนะซึ่งได้เงินรางวัลไปสูงสุดคือทีม 360 Enterprise Security and Government and (ESG) Vulnerability Research Institute จาก Qihoo 360 ซึ่งได้เงินรางวัลไป 22 ล้านบาท

นอกเหนือจาก iOS 14, Windos 10 และ Chrome แล้ว เป้าหมายที่ถูกโจมตีสำเร็จยังมี Samsung Galaxy S20, Ubuntu, Safari, Firefox, Adobe PDF Reader, Docker (Community Edition), VMWare EXSi (hypervisor), QEMU (emulator & virtualizer) และเฟิร์มแวร์ของ TP-Link และ ASUS ด้วย

การแข่งขัน Tianfu Cup เป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ที่หลังจากรัฐบาลจีนมีนโยบายจำกัดไม่ให้ชาวจีนเข้าร่วมการแข่งขันอย่าง Pwn2Own จากข้อกังวลเรื่องความมั่นคงของประเทศ แต่ผลักดันให้มีการแข่งขันภายในประเทศแทนและคาดว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการแข่งขันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อแนวทางด้านไซเบอร์ของจีน

ที่มา: zdnet

แจ้งเตือน IoT Botnet ใหม่ “Ttint” ที่ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ Zero-day ใน Tenda Router ในการเเพร่กระจาย

Netlab ทีมนักวิจัยด้านความปลอดภัยของบริษัท Qihoo 360 จากจีนได้รายงานถึงการตรวจพบบ็อตเน็ตใหม่ที่มีชื่อว่า “Ttint” ที่กำลังใช้ประโยชน์จากช่องโหว่แบบ zero-day ในเราท์เตอร์ Tenda เพื่อทำการเเพร่กระจาย โดยการติดตั้งมัลแวร์บนเราท์เตอร์ Tenda เพื่อทำการสร้างบอทเน็ต IoT (Internet of Things)

จากรายงานของ Netlab ได้ระบุว่าบ็อตเน็ต Ttint เป็นบ็อตเน็ตสายพันธุ์เดียวกับ Mirai เนื่องจากถูกสร้างด้วยโค้ดเบสเดียวกัน โดยทั่วไปแล้วบ็อตเน็ตชนิดนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อทำการโจมตี DDoS แต่ด้วยการพัฒนาฟังก์ชั่นการทำงานเพิ่มจึงทำให้ปัจจุบัน Ttint มีความสามารถเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากการเเพร่กระจายบนเราเตอร์อีก 12 ฟังก์ชั่น โดยในการเเพร่กระจายนั้นบ็อตเน็ต Ttin จะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่แบบ zero-day จำนวน 2 ช่องโหว่ถูกติดตามด้วยรหัส CVE-2020-10987 และ CVE-2018-14558 เป็นช่องโหว่ในเราท์เตอร์ Tenda

Netlab ได้เเนะนำให้ผู้ใช้เราเตอร์ Tenda ตรวจสอบเฟิร์มแวร์และทำการอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของบ็อตเน็ต Ttint

ที่มา : Zdnet