"เฟซบุ๊ก" เผย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงาน ร้องขอข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ถึงกว่า 10,000 เรื่องภายในเวลาแค่ 6 เดือนหลังของปี 2012 หลังถูกแฉ เปิดช่องให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ได้โดยตรง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. "เฟซบุ๊ก" เปิดเผยครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ถึงตัวเลขจำนวนคร่าวๆ ที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน เพื่อขอข้อมูลส่วนของผู้ใช้งาน โดยมีจำนวนถึง 9,000-10,000 เรื่อง ภายในเวลาแค่ 6 เดือนหลังของปี 2012 ที่ผ่านมา ซึ่งเกี่ยวข้องผู้ใช้งานราว 19,000 แอคเคานท์ จากที่เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานทั้งสิ้นจำนวน 1,100 ล้านแอคเคานท์
ขณะที่ เฟซบุ๊ก เผยว่า การร้องขอดังกล่าวมีทั้งเกี่ยวข้องกับการสืบสวนเกี่ยวการก่อการร้าย แต่บางครั้งก็มาจากระดับนายอำเภอที่ต้องการข้อมูลสำหรับคดีเด็กหาย ส่วนหน่วยงานกลางเป็นเรื่องของการตามหาผู้หลบหนี เป็นต้น
เฟซบุ๊ก ได้ร้องต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขออนุญาตให้สามารถเปิดเผยเกี่ยวกับการถูกร้องขอข้อมูลได้มากขึ้น นับตั้งแต่ "เดอะ วอชิงตัน โพสต์" และ "การ์เดียน" ได้เปิดโปงโปรแกรมลับสำหรับสอดแนม ที่มีรหัสว่า "PRISM" ที่มีเป้าหมาย ไว้ตามสอดแนมพฤติกรรมของผู้ก่อการร้ายของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะอ้างพบตัวพรีเซนเทชั่นของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ "NSA" ที่บอกว่า พวกเขาสามารถเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก, กูเกิ้ล, ไมโครซอฟท์ ฯลฯ ได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กและบริษัทอื่นๆ ได้ออกมาปฏิเสธเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่มา : thairath