พบมัลแวร์ KV-botnet มุ่งเป้ายึดเราเตอร์ SOHO และอุปกรณ์ VPN

กลุ่ม Hacker ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน (APT) ที่รู้จักกันในชื่อ Volt Typhoon (Bronze Silhouette) ได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับ Botnet ที่มีความสามารถขั้นสูงในชื่อ 'KV-botnet' ซึ่งถูกใช้ในการโจมตีเราเตอร์ SOHO ในเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงมาตั้งแต่ปี 2022

Volt Typhoon จะกำหนดเป้าหมายการโจมตีไปยังเราเตอร์, ไฟร์วอลล์ และอุปกรณ์ VPN โดยเชื่อมต่อไปยัง proxy traffic ที่เป็นอันตราย และผสมผสานกับการรับส่งข้อมูลที่เป็นปกติเพื่อไม่ให้ถูกตรวจพบ
(more…)

เผยปฏิบัติการมัลแวร์ VPNFilter โจมตีอุปกรณ์เน็ตเวิร์กกว่า 500,000 เครื่องทั่วโลก

หัวข้อ
เนื่องจากเนื้อหาของบทความซึ่งอาจมีหลายส่วน ทีมตอบสนองการโจมตีและภัยคุกคามได้ทำการแยกประเด็นสำคัญออกเป็นหัวข้อ ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระตามรายการด้านล่าง

สรุปย่อ
วิธีการโจมตีอุปกรณ์เครือข่าย
เป้าหมายการโจมตี
อุปกรณ์เครือข่ายที่ได้รับผลกระทบ
การตรวจจับและจัดการมัลแวร์ในอุปกรณ์
ตัวบ่งชี้ภัยคุกคาม

สรุปย่อ

ทีมนักวิจัยด้านความปลอดภัย Talos จากบริษัท Cisco ได้มีการเปิดเผยปฏิบัติการการแพร่กระจายมัลแวร์ซึ่งมุ่งโจมตีอุปกรณ์เครือข่ายตามบ้าน (Small Office/Home Office) โดยใช้มัลแวร์ชนิดใหม่ชื่อ VPNFilter ซึ่งในขณะนี้น่าจะมีอุปกรณ์ที่ติดมัลแวร์แล้วอย่างน้อย 500,000 เครื่องทั่วโลก

มัลแวร์ VPNFilter นั้นเมื่อถูกติดตั้งลงในอุปกรณ์แล้ว มันสามารถที่จะดักจับข้อมูลที่ส่งผ่านอุปกรณ์, ขโมยข้อมูลหรือแม้กระทั่งตัดอินเตอร์เน็ตและทำลายอุปกรณ์ให้ไม่สามารถใช้งานต่อได้ ด้วยความซับซ้อนของมัลแวร์ VPNFilter และความเหมือนกับมัลแวร์อีกชนิดหนึ่ง ทีม Talos จึงลงความเห็นว่าปฏิบัติการการโจมตีที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะมีประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่เบื้องหลังการโจมตี หรือกลุ่มผู้โจมตีอาจได้รับการสนับสนุนทรัพยากรแหล่งทรัพยากรระดับประเทศ (nation-state)

ในขณะนี้ทีม Talos ได้ประสานงานกับหน่วยงานจากหลายประเทศเพื่อดำเนินการปิดเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ในการติดต่อและควบคุมอุปกรณ์ที่ติดมัลแวร์แล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้งานดำเนินการตามคำแนะนำซึ่งจากปรากฎในหัวข้อ "การตรวจจับและจัดการมัลแวร์ในอุปกรณ์" โดยด่วนที่สุดเพื่อจัดการภัยคุกคาม
วิธีการโจมตีอุปกรณ์เครือข่าย
อ้างอิงจากรายงานของทีม Cisco Talos กลุ่มผู้โจมตีมีการพุ่งเป้าไปที่อุปกรณ์เครือข่ายตามบ้านซึ่งไม่มีการป้องกันที่ดีพอ รวมไปถึงมีการตั้งค่าที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่ได้มีการเปลี่ยนรหัสที่ถูกตั้งมาเป็นค่าเริ่มต้นของอุปกรณ์ และขาดการอัปเดต ทำให้มีปัญหาด้านความปลอดภัยที่ง่ายต่อการเป็นเป้าหมายในการโจมตี

ทีม Cisco Talos ระบุว่าในปฏิบัติการที่มีการแพร่กระจายมัลแวร์ VPNFilter ที่ตรวจพบนั้น ยังไม่มีการตรวจพบการใช้งานช่องโหว่ที่ไม่เคยมีการตรวจพบมาก่อนหรือช่อง zero day ในการโจมตีดังกล่าวเลย
เป้าหมายการโจมตี
อ้างอิงจากรายงานของทีม Cisco Talos เมื่อกลุ่มผู้โจมตีประสบความสำเร็จในการโจมตีอุปกรณ์เครือข่ายตามบ้านแล้ว กลุ่มผู้โจมตีจะติดตั้งมัลแวร์ VPNFilter ลงไปในอุปกรณ์ มัลแวร์ VPNFilter ถูกออกแบบมาอย่างซับซ้อนและทำงานได้หลากหลายฟังก์ชันการทำงาน อาทิ

มัลแวร์จะดำเนินการเขียนทับข้อมูลในส่วนโปรแกรมของอุปกรณ์ซึ่งจะส่งผลให้อุปกรณ์ไม่สามารถใช้การได้
ดักจับข้อมูลที่ถูกรับ-ส่งในเครือข่าย
เข้าถึงและส่งออกข้อมูลหรือไฟล์ที่มีอยู่ในอุปกรณ์
ติดตั้งส่วนเสริมของมัลแวร์เพิ่มเติมซึ่งอาจทำให้มัลแวร์แพร่กระจายได้ในเครือข่าย หรือทำให้มัลแวร์ถูกตรวจจับได้ยากขึ้น

ทั้งนี้จากลักษณะความซับซ้อนและความลึกลับตรวจจับยากของมัลแวร์ ทีม Cisco Talos ลงความเห็นว่าเป้าหมายของปฏิบัติการและมัลแวร์ VPNFilter นั้นคือการติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์จำนวนมากเพื่อรอการควบคุมให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สร้างการโจมตีทางไซเบอร์ขนาดใหญ่ รวมไปถึงถูกติดตั้งเพื่อจารกรรมข้อมูลและเก็บรวบรวมข่าวกรอง
อุปกรณ์เครือข่ายที่ได้รับผลกระทบ
อ้างอิงจากรายงานของทีม Cisco Talos อุปกรณ์เครือข่ายตามบ้านที่ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีที่ตรวจพบมีตามรายการดังต่อไปนี้

อุปกรณ์ยี่ห้อ Linksys รุ่น E1200, E2500 และ WRVS4400N
อุปกรณ์ยี่ห้อ MikroTik รุ่น 1016, 1036 และ 1072
อุปกรณ์ยี่ห้อ NETGEAR รุ่น DGN2200, R6400, R7000, R8000, WNR1000 และ WNR2000
อุปกรณ์ยี่ห้อ TP-Link รุ่น R600VPN
อุปกรณ์ยี่ห้อ QNAP รุ่น TS251 และ TS439 Pro

การตรวจจับและจัดการมัลแวร์ในอุปกรณ์
ในกรณีที่เครือข่ายมีการจัดเก็บบันทึกการใช้งานเครือข่าย (log) เอาไว้ ให้ดำเนินการตรวจสอบการเรียกหาที่อยู่ซึ่งปรากฎในหัวข้อ "ตัวบ่งชี้ภัยคุกคาม" หากตรวจพบว่ามีการเรียกไปยังที่อยู่ดังกล่าว ให้ดำเนินการจัดการกับมัลแวร์ในอุปกรณ์ตามคำแนะนำด้านล่าง

สำหรับผู้ใช้งานที่ไม่แน่ใจว่ามีอุปกรณ์ติดมัลแวร์อยู่หรือไม่ เนื่องจากการตรวจสอบการมีอยู่ของมัลแวร์นั้นเป็นไปได้ยาก FBI แผนก Internet Crime Complaint Center ได้มีการเผยแพร่คำแนะนำในการจัดการกับมัลแวร์ดังนี้

ดำเนินการสำรองข้อมูลการเชื่อมต่อของอุปกรณ์เอาไว้ ซึ่งอาจทำได้โดยการถ่ายรูปข้อมูลการตั้งค่า เพื่อที่จะนำมาใช้ตั้งค่าอุปกรณ์ในภายหลัง
ดำเนินการล้างการตั้งค่าของอุปกรณ์ให้เป็นค่าเริ่มต้นที่มาจากโรงงาน (factory setting) เพื่อลบมัลแวร์ซึ่งอาจฝังตัวอยู่ในระบบ
ดำเนินการอัปเดตรุ่นของอุปกรณ์โดยตรวจสอบตามแหล่งข้อมูลของผู้ผลิตอุปกรณ์
ปิดการใช้งานฟีเจอร์ควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกล (remote management)
เปลี่ยนรหัสผ่านสำหรับเข้าถึงอุปกรณ์ให้เป็นรหัสผ่านที่มีความแข็งแกร่งและคาดเดาได้ยาก

หากมีการใช้ Snort ในการตรวจจับการโจมตีภายในเครือข่าย มัลแวร์ VPNFilter สามารถถูกตรวจจับได้ผ่านทาง rule ดังต่อไปนี้ 45563, 45564, 46782 และ 46783
ตัวบ่งชี้ภัยคุกคาม
อุปกรณ์ที่มีการติดมัลแวร์ VPNFilter จะมีการเชื่อมต่อไปยังที่อยู่ตามโดเมนเนมดังต่อไปนี้

photobucket[.]com/user/nikkireed11/library
photobucket[.]com/user/kmila302/library
photobucket[.]com/user/lisabraun87/library
photobucket[.]com/user/eva_green1/library
photobucket[.]com/user/monicabelci4/library
photobucket[.]com/user/katyperry45/library
photobucket[.]com/user/saragray1/library
photobucket[.]com/user/millerfred/library
photobucket[.]com/user/jeniferaniston1/library
photobucket[.]com/user/amandaseyfried1/library
photobucket[.]com/user/suwe8/library
photobucket[.]com/user/bob7301/library
toknowall[.]com

และอาจจะมีการติดต่อไปยังหมายเลขไอพีแอดเดรสดังต่อไปนี้

91.121.109[.]209
217.12.202[.]40
94.242.222[.]68
82.118.242[.]124
46.151.209[.]33
217.79.179[.]14
91.214.203[.]144
95.211.198[.]231
195.154.180[.]60
5.149.250[.]54
91.200.13[.]76
94.185.80[.]82
62.210.180[.]229
zuh3vcyskd4gipkm[.]onion/bin32/update.