พบ Ransomware ตัวใหม่ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่เก่าของ Fortinet VPN เพื่อโจมตีเครื่องที่ยังไม่ได้แพทช์

Cring ransomware เป็นมัลแวร์เรียกค่าไถ่สายพันธุ์ล่าสุดที่พบว่าอาศัยช่องโหว่ของ Fortinet SSL VPN (CVE-2018-13379) ที่สามารถถูกใช้เพื่อดึงข้อมูล credentials ของผู้ใช้งาน VPN ออกมาได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนผ่านการส่ง http request ที่ถูกดัดแปลงแล้ว (Path Traversal) และได้มีการเปิดเผย IP ของอุปกรณ์ที่มีช่องโหว่ออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว มัลแวร์เรียกค่าไถ่ตัวนี้เป็น human-operated ransomware นั่นคือเป็น ransomware ที่มีการปฏิบัติการและควบคุมโดยแฮ็กเกอร์อยู่เบื้องหลัง

เริ่มต้นด้วยการโจมตีช่องโหว่ของ Fortinet VPN จากนั้นจึงอาศัยข้อมูลที่ได้มาเข้าไปติดตั้ง Mimikatz ที่ถูกดัดแปลงลงบนเครื่องเหยื่อ ตามด้วย CobaltStrike และวาง ransomware ด้วยการดาวน์โหลดผ่านโปรแกรม CertUtil ของ Windows เอง เพื่อหลบหลีกการตรวจจับ Mimikatz จะถูกใช้เพื่อกวาด credentials ที่อาจหลงเหลืออยู่บนเครื่องเหยื่อ เพื่อนำไปเข้าถึงเครื่องอื่นๆ ต่อไป (Lateral movement) เช่น domain admin เป็นต้น จากนั้นจึงใช้ CobaltStrike เป็นเครื่องมือในการแพร่กระจายไฟล์ ransomware ไปยังเครื่องอื่นๆ

ถึงแม้ช่องโหว่ที่ค่อนข้างเก่า แต่ก็มีความรุนแรงสูงมาก (9.8/10) ผู้ใช้งาน Fortinet SSL VPN ที่ยังเป็น FortiOS 6.0.0 to 6.0.4, 5.6.3 to 5.6.7 และ 5.4.6 ถึง 5.4.12 ควรตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่ และดำเนินการแพทช์โดยเร็วที่สุด สำหรับ IOCs สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากรายงานของ Kaspersky ตามลิงก์ด้านล่าง : kaspersky

ที่มา: bleepingcomputer

พบ DearCry ransomware โจมตีผ่านช่องโหว่ล่าสุดบน Microsoft Exchange

นักวิจัยพบ ransomware ตัวใหม่ DearCry บนบริการ ยืนยันสายพันธุ์ ransomware malwarehunterteam เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยเหยื่อได้มีการตั้งกระทู้ให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับการติด DearCry ว่าเขาคิดว่าเครื่อง Microsoft Exchange ของเขาที่ถูกเข้ารหัสถูกโจมตีโดยกลุ่มช่องโหว่ ProxyLogon บน Microsoft Exchange ก่อนที่จะมีการวาง DearCry เพื่อเข้ารหัส

ทีม Microsoft Security Intelligence ยืนยันการค้นพบ DearCry ดังกล่าวโดยระบุว่า DearCry เป็นการโจมตีแบบ human operated ransomware ซึ่งเป็นการโจมตีที่มีผู้โจมตีลงมือเจาะระบบเพื่อเข้าไปรันมัลแวร์ และยืนยันว่าผู้โจมตีที่อยู่เบื้องหลัง DearCry มีการใช้ช่องโหว่บน Microsoft Exchange

ผู้ดูแลระบบควรทำการอัปเดตแพตช์และควรทำการตรวจสอบระบบโดยละเอียดเพื่อหา IOC ว่าถูกโจมตีแล้วหรือไม่ เนื่องจากในกรณีที่อัปเดตแพตช์แต่ถูกโจมตีไปแล้ว จะมีโอกาสที่ผู้โจมตีฝัง web shell สามารถรันคำสั่งอันตรายบนเครื่องต่อได้

ที่มา : bleepingcomputer

Mount Locker แรนซัมแวร์ชนิดใหม่ที่มุ่งเป้าหมายไปยังซอฟต์แวร์ TurboTax

Vitali Kremez จาก Advanced Intel ได้เปิดเผยถึงการวิเคราะห์แรนซัมแวร์ชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า Mount Locker ransomware ที่เริ่มแพร่กระจายในเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา โดยแรนซัมแวร์ชนิดใหม่นี้มุ่งเป้าไปยังซอฟต์แวร์ TurboTax เพื่อทำการขโมยข้อมูลและเอกสารในการยืนภาษี จากนั้นจะเข้ารหัสไฟล์เพื่อใช้ในการขู่กรรโชกเหยื่อและเรียกค่าไถ่จากการที่ต้องยื่นภาษีก่อนกำหนดเส้นตายภาษีในวันที่ 15 เมษายน 2021

Vitali Kremez กล่าวว่า Mount Locker ransomware เป็นแรนซัมแวร์ที่มีการปฏิบัติการโดย human-operated ransomware เมื่อแรนซัมแวร์สามารถเข้าถึงเครือข่ายแรนซัมแวร์จะมุ่งเป้าหมายไปยัง ซอฟต์แวร์ภาษี TurboTax โดยแรนซัมแวร์จะทำการแสกนและรวบรวมไฟล์ที่มีนามสกุลไฟล์ .Tax, .tax2009, .tax2013 และ .tax2014 ที่เชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์ TurboTax จากนั้นจะทำการส่งข้อมูลกลับไปยัง C&C ของกลุ่มปฏิบัติการและจะทำการเข้ารหัสไฟล์บนเครื่องที่บุกรุก เพื่อใช้ในการเรียกค่าไถ่เหยื่อ

ทั้งนี้ผู้ใช้ควรหมั่นตรวจสอบและสำรองข้อมูลไฟล์ TurboTax และเอกสารสำคัญอื่นๆ บนสื่อภายนอกเช่น USB หรือ External HDD หลังจากที่ทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ และทำการถอดสื่อภายนอกทุกครั้งที่ทำการเปลื่ยนเเปลงเสร็จ เพื่อเป็นการป้องกันการตกเป็นเหยื่อของแรนซัมแวร์

ที่มา: bleepingcomputer

รายละเอียดภัยคุกคามและปฏิบัติการของ Maze Ransomware

ทำความรู้จักปฏิบัติการของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ Maze
มัลแวร์เรียกค่าไถ่ Maze เป็นมัลแวร์เรียกค่าไถ่ซึ่งอยู่ในกลุ่มของมัลแวร์ค่าไถ่ซึ่งนอกจากจะมีจุดประสงค์ในการแพร่กระจายเพื่อเข้ารหัสข้อมูลของระบบเป้าหมายแล้ว มัลแวร์เรียกค่าไถ่ในกลุ่มนี้จะพุ่งเป้าไปที่การเข้าถึงและขโมยข้อมูลของเป้าหมายออกมา เพื่อสร้างเงื่อนไขของการขู่กรรโชกและเรียกค่าไถ่เพิ่มเติมด้วย

ไมโครซอฟต์มีการบัญญัติคำเพื่อเรียกมัลแวร์เรียกค่าไถ่และปฏิบัติการของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ในกลุ่มนี้ว่า Human-operated Ransomware ซึ่งส่วนหนึ่งในปฏิบัติการของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่สำคัญคือการที่ผู้ไม่ประสงค์ดีคอยควบคุมและจัดการเพื่อให้สามารถสร้างผลกระทบต่อเหยื่อและผลประโยชน์ต่อผู้ไม่ประสงค์ดีให้ได้มากที่สุด

ในเชิงเทคนิคนั้น ความแตกต่างระหว่างมัลแวร์เรียกค่าไถ่และปฏิบัติการแบบทั่วไปซึ่งอาศัยการสร้างเงื่อนไขเพื่อขู่กรรโชกด้วยการเข้ารหัสไฟล์หรือ Classic ransomware campaign กับมัลแวร์เรียกค่าไถ่และกลุ่มปฏิบัติการแบบ Human-operated ransomware มีตามประเด็นดังนี้

เวลาที่ใช้ในปฏิบัติการ (Operation time):

Classic ransomware campaign: จุดอ่อนสำคัญของมัลแวร์เรียกค่าไถ่และปฏิบัติการแบบทั่วไปซึ่งอาศัยการสร้างเงื่อนไขเพื่อขู่กรรโชกด้วยการเข้ารหัสไฟล์อยู่ในจุดที่กระบวนการเข้ารหัสไฟล์ของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ถูกตรวจพบหรือถูกขัดขวางก่อนที่จะดำเนินการเสร็จสิ้น ดังนั้นมัลแวร์เรียกค่าไถ่ในกลุ่มนี้จะดำเนินการเสร็จให้เร็วและหลีกเลี่ยงการที่จะถูกตรวจจับให้ได้มากที่สุด ทำให้การตรวจจับนั้นจะสามารถทำได้เฉพาะในช่วงเวลาที่มีการทำงานของมัลแวร์เรียกค่าไถ่เท่านั้น
Human-operated ransomware: มัลแวร์เรียกค่าไถ่และปฏิบัติการในกลุ่มนี้มีการแสดงพฤติกรรมของการเข้าถึงระบบ เคลื่อนย้ายตัวเองไปยังระบบอื่น พยายามยกระดับสิทธิ์และเข้าถึงข้อมูลคล้ายกับพฤติกรรมของกลุ่ม Advanced Persistent Threat (APT) ที่มีเป้าหมายในการจารกรรมข้อมูล ส่งผลให้กรอบและระยะเวลาในการปฏิบัติการนั้นยาวและอาจเพิ่มโอกาสในการตรวจจับความผิดปกติจากพฤติกรรมได้ด้วย

หลักฐานหลังจากการโจมตี (Post-incident artifacts):

Classic ransomware campaign: มัลแวร์เรียกค่าไถ่จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อกระบวนการเข้ารหัสไฟล์เสร็จสิ้นแล้วผ่านทาง Ransom note หรือข้อความซึ่งอธิบายเหตุการณ์และขั้นตอนของ ด้วยข้อมูลใน Ransom note ดังกล่าว การระบุหาประเภทของมัลแวร์เรียกค่าไถ่และผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจึงสามารถทำได้โดยง่าย
Human-operated ransomware: เนื่องจากระยะเวลาของปฏิบัติการที่ยาวและโอกาสที่ปฏิบัติการของมัลแวร์เรียกค่าไถ่จะถูกตรวจพบระหว่างดำเนินการโดยที่ยังไม่มีหลักฐานอย่างเช่น Ransom note อย่างชัดเจนจึงมีโอกาสที่สูงซึ่งส่งผลให้การระบุประเภทของภัยคุกคามและผลกระทบของเหตุการณ์นั้นทำได้ยาก การรับมือและตอบสนองเหตุการณ์ในลักษณะนี้จำเป็นต้องประเมินถึงความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจบที่มีการใช้ Ransomware ในที่สุดด้วย

พฤติกรรมของ Maze Ransomware
ไมโครซอฟต์ได้มีการเปิดเผยพฤติกรรมของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ในกลุ่ม Human-operated Ransomware รวมไปถึงพฤติกรรมของ Maze ในบทความ Ransomware groups continue to target healthcare, critical services; here’s how to reduce risk ซึ่งสามารถสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

หมายเหตุ: ข้อมูลพฤติกรรมของภัยคุกคามสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราแนะนำให้มีการนำข้อมูลเหล่านี้มีจัดลำดับความสำคัญ ประเมินความพร้อมในการตรวจจับและตอบสนอง และดำเนินการตามที่วางแผนเอาไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Maze มักปรากฎการเข้าถึงระบบที่มีความเสี่ยงด้วยการโจมตีผ่านเซอร์วิส Remote Desktop ซึ่งตั้งค่าไว้อย่างไม่ปลอดภัย ในขณะที่มัลแวร์กลุ่มอื่นมีการโจมตีช่องโหว่ซึ่งเป็นที่มีการเปิดเผยมาก่อนแล้ว อาทิ ช่องโหว่ใน Citrix Application Delivery Controller (CVE-2019-19781) หรือช่องโหว่ใน Pulse Secure VPN (CVE-2019-11510) ไมโครซอฟต์ยังมีการระบุว่าเป้าหมายหลักของ Maze คือการโจมตีกลุ่มผู้ให้บริการ (Managed Service Provider) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้ใช้บริการในกลุ่มธุรกิจนี้ด้วย
Maze ใช้โปรแกรม Mimikatz ในการระบุหาข้อมูลสำหรับยืนยันตัวตนในระบบ ข้อมูลสำหรับยืนยันตัวตนนี้จะถูกใช้เพื่อเข้าถึงระบบอื่นๆ
กระบวนการเคลื่อนย้ายตัวเองในระบบภายในขององค์กรมักเกิดขึ้นผ่านการใช้โปรแกรม Cobalt Strike ทั้งนี้เทคนิคและวิธีการที่ Cobalt Strike รองรับนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นเทคนิคซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว อาทิ การโจมตีแบบ Pass-the-Hash, WinRM หรือการใช้เซอร์วิส PsExec ในการเข้าถึงด้วยข้อมูลสำหรับยืนยันตัวตนที่ได้มา
กระบวนการฝังตัวของ Maze มีการปรากฎการใช้ฟีเจอร์ Scheduled Tasks ร่วมกับการใช้คำสั่ง PowerShell ซึ่งทำให้ผู้โจมตีสามารถเข้าถึงระบบที่ถูกโจมตีไปแล้วได้ Maze ยังมีการใช้ฟีเจอร์ WinRM ในการควบคุมระบบเมื่อได้บัญชีซึ่งมีสิทธิ์ของ Domain admin ด้วย
Maze มีการแก้ไขการตั้งค่าใน Group Policy หลายรายการเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการโจมตี

นอกเหนือจากข้อมูลการวิจัยจากไมโครซอฟต์ FireEye ยังได้มีการระบุข้อมูลพฤติกรรมเพิ่มเติมของปฏิบัติการของ Maze ซึ่งพบกลุ่มของพฤติกรรมที่แตกต่างกันในการแพร่กระจายและสามารถใช้บ่งชี้ให้เห็นว่าผู้อยู่เบื้องหลังในการปฏิบัติการของ Maze อาจมีมากกว่าหนึ่งกลุ่ม (อ้างอิง)
คำแนะนำในการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคาม

ในกรณีที่ตรวจพบพฤติกรรมต้องสงสัย พิจารณาการทำ Endpoint segmentation โดยการกำหนด Policy ของ Windows Firewall หรือด้วยอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อจำกัดการติดต่อระหว่างโฮสต์หากมีการพยายามติดต่อรับส่งข้อมูลผ่านทางโปรโตคอล
ในกรณีที่ตรวจพบพฤติกรรมต้องสงสัย พิจารณาการทำ Endpoint segmentation โดยการจำกัดหรือปิดการใช้งานฟีเจอร์ Administrative shares ได้แก่ ADMIN$ (ใช้โดย PsExec), C$, D$ และ IPC$ ทั้งนี้องค์กรควรมีการประเมินความเสี่ยงก่อนดำเนินการเนื่องจากการจำกัดหรือปิดการใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบภายในองค์กร
จำกัดการใช้งานบัญชีผู้ใช้งานในระบบในกรณีที่มีการใช้งานเพื่อแพร่กระจายมัลแวร์
ตั้งค่าหากมีการใช้ Remote Desktop Protocol (RDP) โดยให้พิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้

จำกัดการเข้าถึงจากอินเตอร์เน็ต หรือในกรณีที่จำเป็นต้องมีการเข้าถึง ให้ทำการกำหนดหมายเลขไอพีแอดเดรสที่สามารถเข้าถึงได้ผ่าน Windows Firewall
พิจารณาใช้งาน Multi-factor authentication ทั้งในรูปแบบของการใช้งาน Remote Desktop Gateway หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
จำกัดสิทธิ์และการจำกัดบัญชีผู้ใช้งานที่สามารถเข้าถึงระบบจากระยะไกลผ่านโปรโตคอล
ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการเข้าถึงและใช้งาน Remote Desktop Protocol (RDP) จากอินเตอร์เน็ต ให้พิจารณาใช้งาน Network Leveal Authentication (NLA) เพื่อป้องกันการโจมตีในรูปแบบของการเดาสุ่มรหัสผ่าน ทั้งนี้หากมีการใช้งาน NLA ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบที่มีการเชื่อมต่อนั้นรองรับการใช้งาน และไม่ควรใช้ฟีเจอร์ CredSSP เพื่อป้องกันการบันทึกข้อมูลสำหรับยืนยันตัวตนไว้ในหน่วยความจำของระบบ

ทำการตั้งค่า Group Policy เพื่อควบคุมสิทธิ์ในการใช้ตามความเหมาะสม อาทิ ทำการตั้งค่าเพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลสำหรับยืนยันตัวตนที่ไม่ได้ถูกปกป้องในหน่วยความจำผ่านทาง Group Policy หรือการตั้งค่ารีจิสทรี รวมไปถึงดำเนินการตั้งค่าที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแกร่งของรหัสผ่านของบัญชีผู้ใช้งานใน Group Policy
ติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันมัลแวร์บนเครื่องในองค์กรทุกเครื่อง และอัปเดตข้อมูลและเวอร์ชั่นของซอฟต์แวร์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
พิจารณาการใช้งานข้อมูลตัวบ่งชี้ภัยคุกคาม (Indicator of Compromise — IOC) ในการช่วยเฝ้าระวังและตรวจจับการมีอยู่ของภัยคุกคาม แหล่งข้อมูลซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลตัวบ่งชี้ภัยคุกคามของ Maze มีตามรายการดังต่อไปนี้

ค้นหาข่าวและ IOC ทั้งหมดของ Maze ด้วย APT & Malware CSE
(แนะนำ) รายงานการวิเคราะห์พฤติกรรมของ Maze จาก FireEye
(แนะนำ) รายงานการวิเคราะห์การทำงานของไฟล์มัลแวร์ในปฏิบัติการ Maze โดย McAfee