เกาหลีเหนือใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ VPN เพื่อแฮกสถาบันวิจัยนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้

สถาบันวิจัยพลังงานปรมาณูเกาหลี (KAERI) ของรัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่าเครือข่ายภายในของบริษัทถูกบุกรุกโดยผู้ต้องสงสัยที่คาดว่ามาจากเกาหลีเหนือ

การบุกรุกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ผ่านช่องโหว่ของ VPN (โดยยังไม่มีการระบุว่าเป็นของผู้ให้บริการรายใด) และมี IP Address ของผู้โจมตีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ทั้งหมด 13 IP โดยหนึ่งในนั้นคือ IP "27.102.114[.]89" ซึ่งมีประวัติการเชื่อมโยงกับกลุ่มแฮกเกอร์ที่คาดว่าได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือชื่อว่า Kimsuky

KAERI ก่อตั้งขึ้นในปี 2502 ในเมืองแดจอน เป็นสถาบันวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งออกแบบ และพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปฏิกรณ์ แท่งเชื้อเพลิง การหลอมรวมของรังสี และความปลอดภัยของนิวเคลียร์

หลังจากการบุกรุก KAERI กล่าวว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อบล็อก IP Address ของผู้โจมตี และอัพเดทแพตซ์ของ VPN ที่มีช่องโหว่เรียบร้อยแล้ว โดยสถาบันฯกำลังสืบสวนรายละเอียดผลกระทบจากการบุกรุก และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น

จากรายงานของสำนักข่าว SISA ของเกาหลีใต้ซึ่งเปิดเผยถึงเหตุการณ์การบุกรุกในครั้งนี้ โดยสำนักข่าวอ้างว่า KAERI พยายามปกปิดการโจมตี โดยพยายามปฏิเสธการโจมตีที่เกิดขึ้น ซึ่ง KAERI อ้างว่าเป็นเพียงความผิดพลาดจากพนักงานระดับปฏิบัติการเท่านั้น

ตั้งแต่ปี 2012 Kimsuky (หรือที่รู้จักในชื่อ Velvet Chollima, Black Banshee หรือ Thallium) เป็นกลุ่มแฮกเกอร์ชาวเกาหลีเหนือที่รู้จักในแคมเปญจารกรรมทางอินเทอร์เน็ตที่กำหนดเป้าหมายไปยังสถาบันวิจัย และปฏิบัติการพลังงานนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Cyber Security อย่าง Malwarebytes ได้เปิดเผยถึงการโจมตีไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยใช้วิธีการติดตั้ง Backdoor บนระบบปฏิบัติการ Android และ Windows ที่ชื่อว่า AppleSeed โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อมูลที่มีความสำคัญ

โดยมีเป้าหมายคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงทางนิวเคลียร์ของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และรองกงสุลใหญ่ประจำสถานกงสุลเกาหลีใต้ในฮ่องกง โดยมี IP Address ของ command-and-control (C2) ที่ตรงกัน

ยังไม่มีข้อมูลว่าช่องโหว่ VPN ที่ถูกใช้ในการโจมตีที่เกิดขึ้นเป็นของผู้ให้บริการรายใด แต่ที่ผ่านมามีหลายองค์กรที่ถูกโจมตีด้วยช่องโหว่ของ VPN จากผู้ให้บริการต่างๆเช่น Pulse Secure, SonicWall, Fortinet FortiOS และ Citrix หลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ที่มา : thehackernews