แคนาดาประกาศแบน WeChat และ Kaspersky บนอุปกรณ์ของรัฐบาล

แคนาดาสั่งแบนแอปพลิเคชันรักษาความปลอดภัย Kaspersky และแอปพลิเคชันแชท WeChat ของ Tencent บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของรัฐบาล โดยอ้างถึงความเสี่ยงทางด้านเครือข่าย และความมั่นคงของชาติ การแบนครั้งนี้เกิดจากการที่แคนาดาเกรงว่าทั้ง 2 บริษัทจะแอบส่งข้อมูลที่มีความสำคัญกลับไปยังประเทศรัสเซีย และจีน เพราะอุปกรณ์เคลื่อนที่ เช่น โทรศัพท์ และแท็บเล็ต มีการเคลื่อนย้ายเข้า และออกจากที่ทำงานบ่อยครั้ง ทำให้การตรวจสอบเรื่องการลักลอบขโมยข้อมูลนั้นทำได้ยาก

การตัดสินใจประกาศการสั่งแบนดังกล่าว มาจากการประเมินของ แคเธอรีน ลูเอโล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศของรัฐบาลแคนาดา โดยกล่าวว่า “แอปพลิเคชัน WeChat และ Kaspersky มีความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยในระดับที่ยอมรับไม่ได้”

การแบนจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2023 ซึ่งเป็นเวลาที่ซอฟต์แวร์ WeChat และ Kaspersky ทั้งหมดจะต้องถูกลบออกจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ของรัฐบาล โดยหลังจากวันดังกล่าว รัฐบาลจะบล็อกไม่ให้ดาวน์โหลดแอปเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์จะไม่ถูกนำมาใช้บนอุปกรณ์อีก

Kaspersky ระบุว่าเป็นเหตุผลทางด้านการเมือง

Kaspersky ระบุว่า การตัดสินใจของแคนาดาเกิดขึ้นโดยไม่ได้ปรึกษากับพวกเขาในเรื่องของความกังวลด้านความปลอดภัยที่ถูกกล่าวหา ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักฐานข้อเท็จจริงจากการประเมินทางเทคนิคของแอปพลิเคชัน แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางด้านการเมือง

ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามผลิตภัณฑ์ของ Kaspersky ด้วยเหตุผลว่าเป็นการปกป้องเครือข่ายที่สําคัญจากการสอดแนมของรัสเซีย

เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลเยอรมันได้ออกคำแนะนำผ่าน BSI เพื่อเตือนบริษัทต่าง ๆ ไม่ให้ใช้ซอฟต์แวร์จากผู้ขายในรัสเซีย ในขณะที่รัฐบาลอิตาลีตามมาด้วยการแจ้งเตือนที่คล้ายกันในอีกไม่กี่วันต่อมา

ถัดมา FCC ในสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ใน 'Covered List' ซึ่งกำหนดข้อจำกัดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้แอปพลิเคชัน Kaspersky ในประเทศ

สุดท้าย ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติในสหราชอาณาจักร ย้ำคำเตือนเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ Kaspersky ในระบบของรัฐบาล ซึ่งถูกรายงานครั้งแรกในปี 2560

 

ที่มา : bleepingcomputer

TikTok ปฏิเสธข่าวข้อมูลรั่วไหล หลังแฮ็กเกอร์เผยแพร่ข้อมูลผู้ใช้งาน และ source code

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 กันยายน 2565) กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่ใช้ชื่อว่า ‘AgainstTheWest’ ได้อ้างว่าทำการขโมยข้อมูลของทั้ง TikTok และ WeChat มาจาก Cloud instance ของ Alibaba โดยมีข้อมูลผู้ใช้งานของทั้ง 2 แพลตฟอร์ม อยู่กว่า 2.05 พันล้านรายการในฐานข้อมูลขนาด 790 GB ประกอบไปด้วย ข้อมูลของผู้ใช้, สถิติการใช้งานของแพลตฟอร์ม, source code ** ของ Software, auth tokens, ข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย

แม้ว่าชื่อ ‘AgainstTheWest’ จะดูเหมือนเป็นกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่มุ่งเป้าโจมตีไปยังประเทศแถบตะวันตก แต่เป้าหมายจริง ๆ ของทางกลุ่มกลับเป็นประเทศที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศทางฝั่งตะวันตกมากกว่า โดยกลุ่มดังกล่าวจะมุ่งเป้าโจมตีไปที่จีน และรัสเซีย อีกทั้งยังมีแผนที่จะเพิ่มเป้าหมายไปยังเกาหลีเหนือ เบลารุส และอิหร่านในอนาคต

หลังจากนั้น TikTok ได้ออกมาปฏิเสธข่าวการรั่วไหลของ Source Code และข้อมูลผู้ใช้งานที่แฮ็กเกอร์อ้างว่าได้ขโมยไปจากบริษัท ซึ่งทาง TikTok ให้ข้อมูลกับ BleepingComputer ว่าข้อมูลนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับทางบริษัท และข้อมูล Source Code ที่แชร์อยู่บนแพลตฟอร์มข้อมูลรั่วไหลก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ TikTok ซึ่ง TikTok ยืนยันว่ามีการป้องกันระบบที่เพียงพอ และมีการป้องกันการใช้สคริปต์สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งาน

แม้ว่า WeChat และ TikTok เป็นบริษัทจากประเทศจีนเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้บริษัทแม่บริษัทเดียวกัน โดย WeChat นั้นเป็นของ Tencent ส่วน TikTok เป็นของ ByteDance ดังนั้นหากมีข้อมูลรั่วไหลของทั้งสองบริษัทจากฐานข้อมูลเดียวกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าไม่ใช่การรั่วไหลจากแพลตฟอร์มโดยตรง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าฐานข้อมูลที่เผยแพร่ออกมานั้นมาจากบุคคลที่ 3 หรือโบรกเกอร์ที่มีการคัดลอกข้อมูลจากทั้งสองแพลตฟอร์มลงไปในฐานข้อมูลเดียวกัน

อีกทั้ง Troy Hunt ผู้สร้าง HaveIBeenPwned และ Bob Diachenko, Database hunter ได้ให้ความเห็นใกล้เคียงกันว่าข้อมูลผู้ใช้งานนั้นเป็นของจริง แต่ไม่พบหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าได้มาจาก TikTok ซึ่งไม่สามารถสรุปที่มาของข้อมูลให้เป็นรูปธรรมได้

หากมีการวิเคราะห์เพิ่มเติม และพบว่าข้อมูลทั้งหมดนั้นถูกต้อง TikTok จะถูกบังคับให้ดำเนินการลดผลกระทบของการรั่วไหลของข้อมูล ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลจะไม่ได้เกิดจาก TikTok เองก็ตาม

ที่มา : bleepingcomputer