กลุ่ม LockBit ขู่ปล่อยข้อมูลรั่วไหลของห้างซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังของไทย


กลุ่ม LockBit  ประกาศการโจมตีห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย โดยมีการโพสต์การโจมตีทางไซเบอร์บนเว็บไซต์ของทางกลุ่ม ซึ่งมีการกำหนดเวลาการปล่อยข้อมูลออกสู่สาธารณะในวันที่ 27 เมษายน หากไม่มีการดำเนินการจ่ายค่าไถ่

รายละเอียดเกี่ยวกับการโจมตีดังกล่าว


โดยกลุ่ม LockBit ระบุว่า "ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ หากเหยื่อไม่มีการตอบสนองต่อการเรียกค่าไถ่"

คาดว่าจะมีการปล่อยข้อมูลรั่วไหลในวันที่ 27 เมษายน 2023 ช่วงเวลา 07:10:14 UTC ตามเวลาที่  กลุ่ม LockBit ได้โพสต์บนเว็บไซต์ของทางกลุ่ม ซึ่งในช่วงที่มีการโพสต์นั้น เว็บไซต์ของซูเปอร์มาร์เก็ตดังกล่าวยังคงทำงานได้ตามปกติ

กลุ่ม LockBit ransomware

กลุ่ม LockBit เป็นกลุ่ม ransomware ที่มีการโจมตีมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน นอกจากการโจมตีซูเปอร์มาร์เก็ตดังกล่าว พบว่า LockBit มีประวัติการโจมตีองค์กรต่าง ๆ มาแล้วกว่า 1,716 ครั้ง

จากรายงานของ HIPAA Journal กลุ่ม LockBit 3.0 หรือ LockBit Black ได้มีการเรียกค่าไถ่อยู่ที่ 85,000 ดอลลาร์ต่อเป้าหมาย โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่ม ransomware-as-a-service และมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้งในช่วงที่กำลังพัฒนา ransomware โดยเวอร์ชันได้เปลี่ยนจาก LockBit 2.0 ในปี 2021 มาเป็น LockBit 3.0 เมื่อเดือนมิถุนายน 2022

รายงานของ Infosecurity ในปี 2022 กลุ่ม LockBit มีการโจมตีมากถึง 44% ของการโจมตีด้วย ransomware ทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่ม Conti ที่มีการโจมตีอยู่ที่ 23%

กลุ่ม LockBit เข้าถึงระบบของเหยื่อโดยใช้ลิงก์ฟิชชิ่ง, ช่องโหว่ zero-day, ช่องโหว่ที่ยังไม่ได้รับ  การแก้ไข และมีการรับซื้อช่องทางสำหรับการเข้าถึงระบบของเหยื่อจากแหล่งต่าง ๆ

โดยกลุ่ม LockBit มีแรงจูงใจทางด้านการเงินเป็นหลัก และใช้เครื่องมือในการขโมยข้อมูล (Data Exfiltration Tool) หลายตัว เช่น Stealbit, rclone, และ MEGA

LockBit และ อุปกรณ์ของ Apple

นักวิจัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการโจมตี macOS ของ LockBit ภายหลังจากที่มีการโจมตีอุปกรณ์ Windows และ Linux จำนวนมากว่า อาจจะไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ทางกลุ่มคาดไว้ เนื่องจากมาตรการรักษาความปลอดภัยบน masOS

โดย 'locker_Apple_M1_64' มัลแวร์ที่มุ่งเป้าหมายไปที่อุปกรณ์ macOS ซึ่งถูกพบเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา มีไฟล์นามสกุล .lockbit และเป็นมัลแวร์ในรูปแบบ Cryptovirus ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเข้ารหัสไฟล์ และเปลี่ยนชื่อไฟล์บนอุปกรณ์ macOS
โดยมัลแวร์จะโจมตีเหยื่อโดยใช้อีเมลสแปม และไฟล์แนบที่มีมัลแวร์ ซึ่งพบว่า 'locker_Apple_M1_64' เป็นเวอร์ชันที่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์ และมีช่องโหว่จำนวนมากที่ทำให้สามารถตรวจจับได้จากอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย

เนื่องจากมัลแวร์ดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีระบบ Windows แต่ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ทดสอบกับ macOS นักวิจัยจึงแนะนำให้นักพัฒนาของ Apple สร้างมาตรการด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับมัลแวร์ที่อาจจะถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีอุปกรณ์ masOS โดยเฉพาะ

ที่มา : https://thecyberexpress.com/big-c-thailand-cyberattack/amp/